Hot Topic!
'ไมค์เทวดา-นาฬิกาเทพ' เรื่องราวที่ไม่เคยตายจาก
โดย ACT โพสเมื่อ May 17,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก คมชัดลึก - -
เจาะประเด็นร้อน : โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ
เรียกได้ว่าเหยียบเบรกดังเอี๊ยด! ทีเดียว หลังคณะรัฐมนตรีมีมติให้ไปทำ งบประมาณในการจัดทำรัฐสภาแห่งใหม่งบประมาณ 8,135.56 ล้านบาท ซึ่งเป็น งบประมาณในส่วนของระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีเสียงทักท้วงถึงความโปร่งใสมาแล้ว
แต่ที่ดูเหมือนจะสร้างความตกตะลึงมากที่สุดคือการที่ "สรรเสริญ แก้วกำเนิด" ออกมาระบุว่า "ในที่ประชุม นายกฯ ฟัง ความเห็นของสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วจึงยังไม่อนุมัติงบ แล้วจึงให้กลับไปทบทวนใหม่ ซึ่งนายกฯ ระบุว่า ยอมไม่ได้กับเรื่องไมโครโฟน 1.2 แสนบาท และนาฬิกา 7 หมื่นบาท"
ทำให้คนสงสัยว่า "ไมค์เทวดา" อะไรกัน ทำไมถึงราคาเป็นแสน หรือ "นาฬิกาเทพ"จากไหนถึงได้ราคามหาโหดขนาดนั้น รวมไปถึงความจำเป็นของการต้องใช้อุปกรณ์ขนาดนั้นเชียวหรือ
ถึงนาทีนี้แม้เรายังไม่เห็นสเปกของ "ไมค์เทวดา-นาฬิกาเทพ" แต่สิ่งที่เรา พบคือ เรื่องราวแบบนี้ไม่เคยหายไปจาก สังคมไทย และเรื่องราวเช่นนี้เคยมีมาซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
"ไมค์เทวดา" นั้นหากยังไม่ลืมกันก็เคยมีเรื่องมีราวเป็นข่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี 2557 เมื่อรัฐบาลเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ มี "ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล"
เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีพบว่ามีการปรับปรุงห้องประชุมคณะรัฐมนตรี และหนึ่งในครุภัณฑ์ที่ถูกจับตาคือ "ระบบเครื่องเสียง" ที่ว่ากันว่า "ไฮเทค" โดยเฉพาะไมโครโฟน ตกราคาตัวละ 145,000 บาท ใช้ทั้งหมด 89 ตัว และหากคิดทั้งระบบจะอยู่ที่ 37 ล้านบาท
เท่านั้นก็ถูกขุดคุ้ยว่าการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้โปร่งใส หรือคุ้มค่าหรือไม่ และยิ่งเมื่อไปพบว่าไมค์รุ่นดังกล่าวคือไมโครโฟนยี่ห้อ BOSCH รุ่น DCNM-MMD ราคาในท้องตลาดอยู่ที่ชุดละ 99,000 บาทเท่านั้น
โดยสเปกของ "ไมค์เทวดา" แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้นระบุว่า "เสียงชัดใส ป้องกันเสียงรบกวน เป็นได้ทั้งไมค์ธรรมดาและเป็นแบบพิเศษ คือ สามารถเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูล ที่สำคัญมีระบบล็อกข้อมูลและการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลด้วย โดยมีซอฟต์แวร์พิเศษควบคุมการทำงาน ส่วนหน้าจอที่เห็นมีขนาด 7 นิ้ว มีลำโพงในตัว เป็นระบบสัมผัส โดยจะเป็นระบบแอนดรอยด์พิเศษของบริษัทเอง ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเข้าชมเว็บไซต์หรือท่องอินเทอร์เน็ตได้ ส่งต่อข้อมูลถึงกันได้ผ่านหน้าจอดังกล่าว นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมประชุมดูเว็บไซต์อยู่ที่หน้าจอแล้ว ประธานการประชุมต้องการแสดงรูปภาพ หรือนำเสนองาน ผ่านไฟล์ ก็สามารถกดแทรกขึ้นหน้าจอของทุกเครื่องได้"
แต่แน่นอนคำถามเรื่องความคุ้มค่าและความจำเป็นยังโหมกระหน่ำไม่หยุด เรื่องราวสุดจะทัดทาน เมื่อกระแสโหมกระหน่ำจน "มณฑล สุดประเสริฐ" อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้รับผิดชอบการปรับปรุงต้องออกมาชี้แจงว่า ยังไม่ได้เซ็นสัญญา และยังไม่ได้จ่ายเงินล่วงหน้า 15% ตามที่ระบุไว้ในเอกสารประกวดราคา นอกจากนี้ยังได้ต่อรองราคาจาก 1.4 แสน เหลือเพียง 94,250 บาท
เรื่องราวไม่จบง่ายๆ เพราะแม้จะชี้แจงว่ายังไม่เซ็นสัญา แต่กลับพบว่ามีการติดตั้งแล้ว จนกระอักกระอ่วนกันถ้วนหน้า ไม่ทราบว่าใครพูดจริงใครพูดเท็จ ไม่ทราบว่าบริษัทเข้าไปติดตั้งได้อย่างไรเมื่อยังไม่มีการอนุมัติ สุดท้ายทางบริษัทก็ต้องมาถอดออกไป
ขณะที่มีคนไปร้อง ป.ป.ช. ว่า "ม.ล.ปนัดดา" ในฐานะปลัดสำนักนายกฯ ต้องมีส่วนรับผิดชอบ แต่สุดท้ายก็มีการระบุว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาล และมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนอธิบดีกรมโยธาธิการในขณะนั้น ก่อนที่เรื่องจะเงียบหายไปกับสายลม
เช่นเดียวกับ "นาฬิกาเทพ" ก็ใช่ว่าเพิ่งปรากฏมาครั้งนี้เป็นครั้งแรกเหมือนกัน
เพราะเมื่อปี 2556 ก็เคยมีมาแล้วโดยเกิดที่รัฐสภา ซึ่งขณะนั้นอยู่ในรัฐบาลของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการระบุว่ารัฐสภาได้จัดซื่อนาฬิกาแขวนผนัง จำนวน 200 เรือน มูลค่า 15 ล้านบาท หารแล้วตกเรือนละ 75,000 บาท เท่าครั้งนี้ไม่มีผิด ซึ่งยังไม่แน่ใจ ว่าเป็นแบบเดิมหรือไม่
โดย "นุกูล สัญฐิติเสรี" รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในขณะนั้นชี้แจงว่า งบประมาณทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการควบคุมเวลาและการบริหารเวลาภายในรัฐสภาทั้งระบบ โดยก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎรประสบปัญหาในการนัดหมายเวลากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากนาฬิกาในห้องประชุมแต่ละห้องเดินไม่ตรงกันและบางเรือนไม่เดิน ทำให้การบริหารเวลาเกิดความผิดพลาด สำนักงานเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎรจึงได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการระบบนาฬิกาของรัฐสภาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
เขาอธิบาย "สเปกเทพ" ว่า "สามารถเชื่อมต่อกับดาวเทียมและระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งสัญญาณเวลาให้แก่นาฬิกาเครื่อง ลูกข่ายทั้งหมด รวมถึงมีการแบ็กอัพระบบเวลาให้แก่ชุดควบคุมนาฬิกาหลักให้สามารถรักษาเวลาต่อเนื่องในกรณีไฟฟ้าดับได้ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง นอกจากนี้ งบประมาณดังกล่าว ยังรวมถึงคอมพิวเตอร์ แอพพลิเคชั่น และระบบ การเชื่อมต่อกับมาตรฐานเวลาในระบบของสำนักมาตรวิทยา กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ อุปกรณ์และระบบการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ใช้สายใยแก้วนำแสงไฟเบอร์ออพติก สำหรับเชื่อมโยงระหว่างอาคารที่มีความเสถียรสูง ระบบการติดตั้ง ระบบไฟฟ้าและสายสัญญาณ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระบบนาฬิกานี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศในกลุ่มทวีปยุโรป กลุ่มทวีปอเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ในประเทศไทยมีการใช้ที่สถาบันมาตรวิทยา กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ"
สเปกขนาดนี้หลายคนเปรียบเทียบว่าเป็น "นาฬิกานาซา" ใช้เทียบเวลาปล่อยยานอวกาศ
อย่างไรก็ตาม มีการตรวจสอบต่อมาว่า นาฬิกาที่จัดซื้อในครั้งนั้นเป็นนาฬิกาประเภทจอแอลซีดีดิจิทัล ยี่ห้อ Bodet รุ่น Cristalys Ellipse จากประเทศอังกฤษ ราคาเรือนละ 490 ยูโร (ไม่รวมภาษี) หรือประมาณ 20,310 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 41.45 บาท ในขณะนั้น)
แต่สุดท้ายในปี 2559 ก็มีการถอดนาฬิกาดังกล่าวออก เพราะใช้การไม่ได้ตามปกติ ขณะในด้านการตรวจสอบ ทาง ป.ป.ช.ก็ยังไม่มีผลใดๆ ออกมา ส่วนการตรวจสอบของทางสภาเองก็เอาผิดใครไม่ได้เช่นกัน
เรื่อง "นาฬิกา-ไมคฺ์" จึงไม่ใช่เรื่องใหม่พอๆ กับการหาตัวผู้รับผิดชอบไม่ได้ก็ยังคงเป็นปกติของสังคมไทย
ล่าสุด "วิลาศ จันทรพิทักษ์" ยังออกมาเปิดเผยอีกว่า โครงการจัดสร้างรัฐสภาจะซื้อโทรทัศน์ยี่ห้อหนึ่งขนาด 65 นิ้ว จากการเดินสำรวจในท้องตลาด ราคาไม่เกิน 50,000 บาท แต่กลับมีการตั้งงบประมาณไว้ที่ 170,000 บาท แพงกว่าถึง 3 เท่าตัว
นี่แค่สิ่งที่เราสามารถพบเห็นและรับรู้ได้ ยังมีอย่างอื่นอีกมากในระบบ "จัดซื้อจัดจ้างจัดงบประมาณ" แบบไทยๆ และแน่นอนก็คงเอาผิดใครไม่ได้เหมือนที่เคยเป็นมา ยังดีที่งานนี้รัฐบาลไม่อนุมัติผ่านไปง่ายๆ แต่ก็น่าถามว่า "ใครกัน...ตั้งงบประมาณแบบนี้"
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน